น่าประทับใจแม่กอริลลาจูบลูกน้อยเพิ่งเกิด หลังสวนสัตว์ใช้เวลา 9 ปีกว่าจะถึงได้สมาชิกใหม่

Gorilla-mother

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561 เว็บไซต์ The Independent ได้รายงานข่าวอันน่าประทับใจ ในนาทีที่กล้องสามารถจับภาพแม่ลิงกอริลล่าอุ้มลูกด้วยความทะนุถนอม พร้อมทั้งหอมและจูบซ้ำๆ ด้วยความชื่นใจ เหมือนกับมนุษย์ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ณ สวนสัตว์แห่งชาติและสถาบันชีววิทยาอนุรักษ์ Smithsonian กรุง Washington, D.C ประเทศสหรัฐอเมริกา

ความรักของแม่กอริลลา ที่มีต่อลูกน้อย ก่อให้เกิดภาพอันน่าประทับใจ

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีอันแสนยาวนาน ณ สวนสัตว์แห่งนี้ สามารถผสมพันธุ์กอริลลาก่อเกิดลูกน้อยได้สำเร็จ โดยไม่นานหลังจากเจ้า ‘Kalaya’ ให้กำเนิดลูกลิงกอริลลา สายพันธุ์พื้นที่ต่ำทางตะวันตก คุณแม่มือใหม่ก็แสดงความรักด้วยการจุมพิตอย่างอบอุ่น พร้อมมอบความรักให้อย่างเต็มที่

เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อให้สมาชิกใหม่ซึ่งเป็นตัวผู้ว่า เจ้า ‘Moge’ แปลว่า เจ้าตัวน้อย ซึ่งมาจากภาษาพูดแถบภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตย Congo โดยภูมิลำเนาของสายพันธุ์นี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งการเพิ่มสมาชิกจึงนับเป็นเรื่องสำคัญ ในการดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อไป

เจ้า‘Kalaya’วัย 15 ปี เดินทางมายังสวนสัตว์แห่งนี้เมื่อ 3 ปีก่อน และเธอถูกจับคู่กับเจ้า ‘Baraga’ พ่อของเจ้า ‘Moge’ อายุ 26 ปี มีน้ำหนัก 204 กิโลกรัม โดย ‘Kalaya’ ตั้งท้องในเดือนสิงหาคมปี 2017 ใช้เวลา 7 เดือน – ถึง 8 เดือน จึงครบกำหนดคลอด

Gorilla-mother-

‘การถือกำเนิดของกอริลลาสายพันธุ์พื้นที่ต่ำนี้มีความสำคัญและมีความพิเศษเป็นอย่างมาก ไม่แต่กับสวนสัตว์แห่งชาติและสถาบันชีววิทยาอนุรักษ์ Smithsonian เท่านั้น หากแต่รวมถึงสายพันธุ์ของมันด้วย’ โฆษกสวนสัตว์กล่าว โดย นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันว่า ในช่วงเวลา 20-25 ปีที่แล้ว จำนวนกอริลลาสายพันธุ์นี้ ตามธรรมชาติลดลงเหลือร้อยละ 60 เท่านั้น

โดยลิงกอริลลามีถิ่นอยู่อาศัยหลักในทวีปแอฟริกาเท่านั้น จำนวนส่วนใหญ่ของกอริลลาในธรรมชาติ จะแพร่พันธ์กันไปตามส่วนพื้นที่ต่างๆ โดยมีแม่น้ำ Congo เป็นตัวแบ่งพวกประชากรกอริลลาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กอริลลาสายพันธุ์ตะวันตก กับกอริลลาตะวันออก โดยเหตุผลที่พวกกอริลลา ต้องอยู่อาศัยแยกกัน เนื่องจากมีแม่น้ำ Congo เป็นตัวแบ่งแยก จึงทำให้พวกมันไม่อาจเดินทางไปมาหากันได้ เนื่องจากไม่สามารถว่ายน้ำได้ ด้วยเหตุนี้การที่พวกมันถูกแบ่งแยกออกจากกัน จึงทำให้มีถิ่นอยู่อาศัย , อาหาร รวมทั้งสภาพอากาศแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดการวิวัฒนามากขึ้น จนกลายเป็นสายพันธุ์แตกต่างในกาลต่อมา โดยกอริลลาทั้งหมด สายพันธ์ที่มีจำนวนประชากรเยอะสุด ก็คือ ‘สายพันธุ์ตะวันตก’ ซึ่งมีอาณาเขตอยู่อาศัยตั้งแต่บริเวณแอฟริกากลาง ลากยาวไปจนถึงแม่น้ำ Congo เลยทีเดียว